บทความ : Articles รวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับ PlayStation 5 (PS5) โดยอัจ ลอฟท์เกม

บทความ : Articles รวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับ PlayStation 5 (PS5) โดยอัจ ลอฟท์เกม

เมื่อกล่าวถึงเครื่องเล่นเกมคอนโซลในยุคปัจจุบัน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ นึกถึงเครื่อง PlayStation อย่างแน่นอน ด้วยความที่มาทำตลาดเกมคอนโซลมาตั้งแต่ยุค PlayStation / PlayStation One / PlayStation 2 / PlayStation 3 / PlayStation 4 และเครื่องเกมพกพาอย่าง PlayStation Portable (PSP) และ PlayStation Vita ซึ่งในแต่ละเครื่องก็ยังแบ่งรุ่นยิบย่อย ไม่ว่าจะเป็น Slim Pro และอื่น ๆ ซึ่งถ้าให้อธิบายในนี้คงยาวแน่นอน 

แต่แล้วในที่สุดแล้วกาลเวลาก็ถึงคราวที่ทำให้ต้องเปิดตัวเครื่องเล่นเกมเจนเนอเรชั่นใหม่ อย่าง "PlayStation 5" นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 9 ของค่าย Sony PlayStation ที่เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยแบ่ง 2 รุ่นด้วยกัน คือรุ่น Standard Edition แบบใส่แผ่น Blu ray Ultra HD และแบบ Digital Edition ที่ต้องซื้อเกมผ่านทาง PlayStation Store เท่านั้น โดยสำหรับรุ่น Standard Edition จะอยู่ที่ราคา 499.99 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 15,500 บาท และรุ่น Digital Edition ที่ราคา 399.99 หรือประมาณ 12,400 บาท โดยมีกำหนดการวางจำหน่ายเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

ส่วนในประเทศไทยนั้น ทาง Sony Store Thai ได้เปิดราคาและสั่งจองกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 โดยเปิดราคาในรุ่น Standard Edition อยู่ที่ 16,990 บาท และรุ่น Digital Edition อยู่ที่ 13,990 บาท ตามช่องทางต่าง ๆ ที่ทาง Sony Thai กำหนด แต่ทว่าทาง Sony Store Thai นั้นประสบปัญหาทางด้านเว็บไซต์สั่งจอง จนทำให้ต้องเลื่อนวันสั่งจองอีกครั้งเป็นวันที่ 27 มกราคม 2564 และจำหน่ายพร้อมกันทั่วประเทศล็อตแรกวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 

แต่เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และช่วงที่ทั้งโลกต้องผจญกับเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นั้น ทำให้การผลิตเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 นั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เครื่องผลิตป้อนตลาดไม่ทัน เกิดภาวะขาดแคลน โดยทาง Sony Interactive Entertainment แก้ปัญหาด้วยการผลิตเครื่องเจนเนอเรชั่นเก่าอย่าง PlayStation 4 มาทดแทนไปก่อน

ความแตกต่างระหว่าง PlayStation 5 และ PlayStation 4

โดยสเปกของ PlayStation 5 และ PlayStation 4 นั้นจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง โดยสเปกของ PlayStation 5 นั้นจะมีความสดใหม่และแรงกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นตัว CPU ที่ PS5 นั้นใช้ CPU AMD 8X Zen 2 Core @ 3.5 GHz ด้าน PS4 จะใช้ AMD 8X Jaguar Core 1.6 GHz แรมของ PlayStation 5 ก็มีขนาดมากกว่า PlayStation 4 แถมยังเป็น GDDR6 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า PlayStation 4 ที่ยังใช้ GDDR5 

PS5 จะมีความแรง GPU ที่เหนือกว่า คือจะอยู่ที่ 10.28 TFLOP* เลยทีเดียว ซึ่งทำให้การประมวลผลกราฟฟิค ทำได้ดีกว่า PS4 มาก ๆ ครับ

*(FLOP = จำนวนชุดคำสั่งในการประมวลผล Floating Point ที่สามารถทำได้ใน 1 วินาที ซึ่งจะแตกต่างจากค่า Clock ที่มีหน่วยเป็น Hz)

และ PlayStation 5 จะมาพร้อม SDD ขนาด 825GB ในตัวเพียงความจุเดียว ต่างจากตัว PS4 Slim และ PS4 รุ่นดั่งเดิมที่มีใช้ HDD ขนาด 500GB และรุ่น PS4 Pro ที่ 1TB 

DualSense Wireless Controller

จอย DualSense ซึ่งนับว่าเปลี่ยนโฉมไปมาก ๆ เลย เมื่อเทียบกับ DualShock 4 ของ PS4 มาครั้งนี้ DualSense จะใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีขาวดำแบบด้าน ๆ มีรูปทรงที่ใหญ่ขึ้นเท่ากับจอยของฝั่ง Xbox ทำให้การจับดูเต็มไม้เต็มมือมากขึ้น ด้านหลังมีลาย Texture อันเป็นเอกลักษณ์ของ PlayStation (O X สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม) ซึ่งพื้นผิวตรงนี้ช่วยทำให้ยิ่งกระชับมือมากขึ้นอีกด้วย ตัว Touch Pad จะใช้เป็นพลาสติกสีขาวด้านล้วน ๆ ไม่มีลวดลายแบบ DualShock 4 ส่วนไฟ RGB และลำโพงที่ตัวจอยยังคงมีเหมือนเดิม ปุ่ม Home ที่เปลี่ยนมาใช้สัญลักษณ์ PS ตัวใหญ่

ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิมคือ พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อและการชาร์จเปลี่ยนมาใช้ USB Type C แล้วเรียบร้อยตามยุคตามสมัย มีไมโครโฟนในตัว ที่มีปุ่มเปิดปิดเสียงไมค์ได้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อัดแน่นมาเต็ม ไม่ว่าจะเป็น Adaptive Trigger และ Haptic Feedback ที่เข้ามาช่วยเพิ่มอรรถรสการเล่นเกมให้เรามากขึ้น ถ้าหากคุณเล่นเกมที่เปิดใช้งานคุณสมบัติดังกล่าว โดย Adaptive Trigger จะเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้กับปุ่ม L2 R2 ให้มีแรงต้านในการกดมากขึ้น เช่น เวลาคุณเล่นเกมประเภท Shooting คุณจะรู้สึกถึงแรงต้านเมื่อคุณกด มันจะแข็ง ๆ ฝืด ๆ เสมือนคุณกำลังเหนียวไกปืนจริง ๆ ส่วน Haptic Feedback เข้ามาช่วยทำให้การสั่น Vibration ทำงานได้ละเอียดมากขึ้นกว่า DualShock 4 มาก ๆ ช่วยสร้างฟิลลิ่งในการเล่นเกมได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำมาก ๆ สมกับเป็นเครื่องคอนโซล Next Gen จริง ๆ ที่สำคัญวัสดุพลาสติกรู้เลยว่าคุณภาพดี เพราะจับแล้วไม่มีเสียงกรอบแกรบแบบ DualShock 4 เลยแม้แต่น้อย งานประกอบ งานวัสดุ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ยัดมา ถือว่าทำออกมาได้แบบเยี่ยมเลย แต่จุดที่อาจจะเป็นข้อเสียหน่อยคือแบตเตอรี่หมดไวมาก 

การเชื่อมต่อ Connectivity


เรามาดูพอร์ตการเชื่อมต่อกันบ้าง เครื่อง PlayStation 5 มาพร้อมการเชื่อมต่อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ช่องเสียบสายไฟ AC เข้าเครื่อง
  • ช่อง HDMI สำหรับเชื่อมต่อกับจอ Monitor / TV
  • ช่อง LAN สำหรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านสาย LAN
  • ช่อง USB 3.1 จำนวน 2 ช่อง ใช้สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับเครื่อง PS5
โดย PlayStation 5 จะตัดช่อง Optical Sound ออกไป และไม่มีช่องสำหรับเสียบกล้อง PS Camera ที่ใช้กับ PlayStation VR ได้แบบใน PS4 อีกต่อไป แต่สามารถหา Adapter แปลงมาเสียบใช้งานกับช่อง USB3.1 แทนตามลิงค์นี้ https://www.playstation.com.hk/pscamera-adaptor/reg เพื่อให้สามารถใช้งานกับ PlayStation VR ได้ปกตินั่นเองครับ (ปัจจุบันทาง Sony ได้ประกาศเปิดตัว PlayStation VR2 แล้ว)

การรองรับแรงดันไฟฟ้า (Voltage)

ด้านการรองรับ Voltage กันบ้างครับ PlayStation 5 จะรองรับไฟ Input ในย่าน 100V-240VAC ครับ ถึงแม้ฉลากจะมีการระบุแตกต่างกันไปตาม Zone เพราะ Power Supply ของ PlayStation 5 ก็ลักษณะเช่นเดียวกับ PlayStation 4 ครับ นั้นเป็น Power Supply แบบ Switching ที่ปรับย่าน Voltage ได้อัตโนมัตินั่นเอง (ไม่เหมือนยุคเก่าๆที่ต้องมานั่งปรับ Switch เลือกระหว่าง 110V-220V ถ้าปรับผิดขึ้นมา ชีวิตเปลี่ยนกันเลยทีเดียว) ดังนั้นสบายใจหายห่วง ไม่ว่าคุณจะซื้อ PlayStation 5 มาจากที่ไหนบนโลกนี้ สามารถใช้งานได้หมดครับ อาจจะแตกต่างกันในส่วนของเต้าเสียบปลั้กไฟ

ตั้งเครื่องแนวตั้งหรือแนวนอน?



แล้วแต่ความชอบและสถานที่ตั้งเลยครับ เพราะไม่ว่าจะตั้งหรือนอน ตัวเครื่องมันก็ถูกออกแบบมาให้ระบายความร้อนออกทางด้านหลังเครื่องอยู่แล้ว โดยลมเย็นจะถูกดูดเข้าไปทางช่องที่เป็นซี่เล็กๆที่อยู่บริเวณรอบๆเครื่องนั่นเองครับ และมันจะพัดไอลมร้อนออกทางด้านหลังเครื่อง จำไว้ว่า อย่าตั้งเครื่องไว้อยู่ในซอกเล็กๆ เช่น ชั้นหรือช่องตู้ใต้ทีวี ควรตั้งเครื่องให้มันอยู่ที่โล่ง ๆ จะดีกว่า และก็อย่าให้อยู่ใกล้ความร้อนและโดนแสงแดดโดยตรงด้วยนะครับ เดี๋ยวมันจะจากไปก่อนวัยอันควร

เครื่องสำรองไฟ จำเป็นไหม?


ดีกว่าไม่มีครับ เพราะ PlayStation 5 ประกอบไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดอ่อนต่อไฟฟ้าอาทิ เมนบอร์ด และ SSD นั่นเองครับ การที่ไฟดับ ไฟตก ไฟกระชากบ่อยๆ ไม่ส่งผลดีกับตัวเครื่องแน่นอน วันดีคืนดีๆเล่นๆอยู่ไฟดับไปพักหนึ่ง แล้วไฟมา อาจเกิดไฟกระชากขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้เครื่องเล่นเกมที่เรารักจากไปก่อนวัยอันควรครับ 

การเลือก UPS ง่ายๆ ก็เลือกให้วัตต์เหลือดีกว่าวัตต์ขาดครับ โดย PS5 จะมีอัตราการใช้กำลังไฟฟ้าอยู่ที่ราว ๆ 200 วัตต์ ซึ่งค่าดังกล่าวคือค่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละเครื่อง ซึ่งการใช้งานจริงอาจจะไม่ไช่ค่าตามนี้แต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานแบบไหน กำลังเล่นเกม อยู่หน้าเมนู หรือแค่ดู Netflix หรือฟังเพลงจาก Spotify พูดง่าย ๆ เราควรซื้อ UPS ที่ใช้กำลังไฟเยอะ เพื่อเหลือ ๆ ให้อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นด้วยนั่นเองครับ 

การเลือก UPS ให้คำนึงว่า "วัตต์เหลือดีกว่าวัตต์ขาด" ค่า VA เป็นตัวบ่งบอกสภาวะโหลดว่าแบตอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งเครื่อง UPS นั้นมันถูกออกแบบมาให้ใช้ไฟจากแบตเตอรี่มาจ่ายให้แทนไฟบ้านชั่วคราวเพื่อให้ทันเซฟเกมและปิดเครื่องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเท่านั้น ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้งานช่วงไฟดับระยะยาวๆครับ ก็อย่ามัวแต่เล่นเพลินกันไป และการเลือกซื้อก็ควรเลือกยี่ห้อดี ๆ เชื่อถือได้หน่อย ตัวอย่างเช่น APC เป็นต้น 

ที่สำคัญถัดจาก UPS นั่นก็คือ "รางปลั้กไฟต่อพ่วง" ควรเลือกที่มีคุณภาพดี อาทิเช่น Panasonic Haco Belkin Huntkey เป็นต้น เพราะปลั้กพวกนี้จะมีการใช้วัสดุที่ดีกว่า มีระบบฟิวส์อัตโนมัติ ทนทานต่อกำลังไฟได้สูงกว่า แบบที่ขายอยู่ตามตลาดนัดทั่วไปนั้น อันตรายมากๆ มีภาวะเสี่ยงที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้หากมีการใช้งานโหลดไฟฟ้าที่สูง ๆ เนื่องจากวัสดุที่ใช้งานนั้นคุณภาพต่ำ (ไม่งั้นราคาคงไม่ถูก)

การใช้งาน 

เมื่อเปิดเครื่อง มันจะให้เราเชื่อมต่อกับ DualSense เพื่อให้เครื่องเรารู้จักกับ DualSense เสียก่อน โดยเสียบผ่านสาย USB ที่แถมมา แล้วกดที่ปุ่มโลโก้ PS ที่จอย จากนั้นก็เลือกภาษา (แนะนำว่าให้เลือกภาษาไทยดีกว่า เวลาตั้งค่าครั้งแรกจะได้ง่าย ๆ ) ให้ทำการตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่อง ไม่ว่าเป็นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ล็อกอิน PSN ID (อันนี้จำเป็นนะ ถ้าใครยังไม่มี ไม่ได้สมัคร ก็สมัครได้ที่ https://id.sonyentertainmentnetwork.com/id/create_account_ca/ ) 

ทั้งนี้คุณสามารถแบ็กอัพไฟล์เซฟเกมที่บันทึกไว้ในคลาวด์ (หากคุณเป็นสมาชิก PS Plus รายเดือนหรือรายปี) มาไว้ใน SSD เครื่อง และเกมของ PS4 ทั้งหมดที่อยู่ Ext.HDD สามารถนำมาเสียบเข้ากับเครื่อง PlayStation 5 ได้ทันทีผ่าน USB โดยเครื่องจะมองเห็นเกมที่เราติดตั้งใน Ext.HDD โดยอัตโนมัติ และมันจะดำเนินติดตั้งตัวอัพเดทไฟล์ล่าสุดของแต่ละเกมขึ้นมาเอง (แนะนำว่าต้องเป็น PSN ID เดียวกับเกมที่อยู่ใน Ext.HDD เท่านั้น) ถือว่าสะดวกสบายเลย ไม่ต้องมานั่งลงเกมใหม่ทั้งหมดให้เสียเวลา


เมนูของ PlayStation 5 แรก ๆ จะใช้งานค่อนข้างยากเล็กน้อย หากคุณใช้งาน PlayStation 4 มานาน ก็มันแทบจะพลิกโฉมไปหมดเลย และจากเดิมที่เคยสามารถสร้าง Folder แยกประเภทเกมได้ใน PlayStation 4 พอมา PlayStation 5 แล้วกลับไม่มีตัวเลือกนี้แต่อย่างใด (คาดว่าอนาคตคงน่าจะมีนะ) ในหน้าแรกจะแสดงเกมที่เราเล่นล่าสุดขึ้นมาแค่ 7-8 เกม เท่านั้น เล่นอันไหนก็ขึ้นอันนั้นอยู่เป็นอันดับแรก และดันอันเก่าเลื่อนไปจนหายไป ต้องไปเลือกหาใน Library แทน ซึ่งมี 3 หมวด เกมทั้งหมดที่สะสม ที่ติดตั้งบนเครื่อง และ PlayStation Plus ตัวเกมสามารถจัดเรียงตามชื่อ วันที่ซื้อ หรือตัวอักษร ส่วน PlayStation Store การหาเกมก็ค่อนข้างลำบากพอสมควร ยังคงต้องปรับปรุงในด้าน User Interface อีกเยอะเลยทีเดียวเลยครับ แต่ก็ทำออกมาได้ดีและสวยงามอยู่

SSD Expansion Card

ในเครื่อง PlayStation 5 นั้นสามารถใส่ SSD M.2 NVMe Gen 4 ได้ 1 Slot ครับ โดยสเปกที่ทาง PlayStation แนะนำมีดังนี้ครับ
  • Interface : PCI-Express Gen4x4 supported M.2 NVMe SSD (Key M)
  • Storage : 250 GB–4 TB
  • Supported sizes : 2230, 2242, 2260, 2280, 22110
  • Size including heat-dissipation mechanism Width: up to 25 mm
  • Length : 30/40/60/80/110 mm
  • Thickness: up to 11.25 mm (up to 8.0 mm from above the board, up to 2.45 mm from below the board)
  • Sequential read speed : 5500 MB/s or faster is recommended
  • Socket type : Socket 3 (Key M)
โดยต้องมีความเร็วในการอ่านมากกว่า 5500 MB/s ขึ้นไป รองรับความจุสูงสุดที่ 4TB ที่สำคัญคือ ต้องเป็น SSD M.2 Gen 4x4 เท่านั้น!! ตำกว่านี้ไม่รองรับนะครับ การใส่ก็ไม่อยากครับ เปิดฝาข้างด้านที่มีช่องใส่แผ่นออก ขันน็อตแผ่นแพลทที่ปิดช่องใส่ SSD ออก ขันน็อตยึด SSD จับใส่ ขันน็อตกลับ แนะนำว่าอย่าขันจนแน่นเกินไป ไม่งั้นอาจสร้างความเสียหายให้กับบอร์ดของ SSD ได้ จากนั้นใส่แผ่นปิด และฝาพลาสติกข้าง แค่นั้นจบ เครื่องมันก็จะรู้เองว่าเราทำใส่ SSD เข้าไปครับ หรือจะทำตามคลิปนี้ก็ได้


หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังศึกษาก่อนซื้อ PlayStation 5 ไม่มากก็น้อยนะครับ ขอให้มีความสุขกับการเล่นเกมครับผม

อัจ ลอฟท์เกม

อัจ ลอฟท์เกม ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ "ลอฟท์เกม - LOFTSGAME" บล็อกเกอร์ผู้สนใจและชื่นชอบเครื่องเล่นเกมคอนโซลเป็นชีวิตจิตใจ นอกจากนี้ยังชื่นชอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไอที แกตเจ็ต รวมไปถึงกีฬาอีสปอร์ต facebook twitter

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า