รีวิว : Review PlayStation 5 (PS5) ที่สุดของเครื่องเล่นเกมเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่ตอบโจทย์เกมเมอร์สายคอนโซลอย่างแท้จริง

รีวิว : Review PlayStation 5 (PS5) 
ที่สุดของเครื่องเล่นเกมเจนเนอเรชั่นใหม่ 
ที่ตอบโจทย์เกมเมอร์สายคอนโซลอย่างแท้จริง

สวัสดีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ติดตาม LOFTGAME ทุกท่านด้วยนะครับ พบกับผม "แอดมินอัจ" และการรีวิวจาก LOFTGAME เช่นเคยนะครับ วันนี้ผมจะมารีวิวเครื่องเล่นเกมที่กำลังฮอต และเป็นที่ต้องการของใครหลาย ๆ คนในตอนนี้ นั่นก็คือเครื่อง PlayStation 5 หรือ PS5 นั่นเองครับ ซึ่งหลาย ๆ คน อาจจะได้รับเครื่องกันไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากทาง Sony Thai และร้าน PlayStation Authorized Dealer ต่าง ๆ ได้เปิดให้สาวกได้ Pre Order กันไปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ผมเองก็เช่นกันครับ เอาละ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เดี๋ยวเรามารีวิวกันเลยครับ !!

บทนำ


เมื่อกล่าวถึงเครื่องเล่นเกมคอนโซลในยุคปัจจุบัน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ นึกถึงเครื่อง PlayStation อย่างแน่นอน ด้วยความที่มาทำตลาดเกมคอนโซลมาตั้งแต่ยุค PlayStation / PlayStation One / PlayStation 2 / PlayStation 3 / PlayStation 4 และเครื่องเกมพกพาอย่าง PlayStation Portable (PSP) และ PlayStation Vita ซึ่งในแต่ละเครื่องก็ยังแบ่งรุ่นยิบย่อย ไม่ว่าจะเป็น Slim Pro และอื่น ๆ ซึ่งถ้าให้อธิบายในนี้คงยาวแน่นอน 

ในที่สุดแล้วกาลเวลาก็ถึงคราวที่ทำให้ต้องเปิดตัวเครื่องเล่นเกมเจนเนอเรชั่นใหม่ อย่าง "PlayStation 5" นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 9 ของ PlayStation แล้วนะครับที่เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยแบ่ง 2 รุ่นด้วยกัน คือรุ่น Standard Edition แบบใส่แผ่น Blu ray Ultra HD และแบบ Digital Edition ที่ต้องซื้อเกมผ่านทาง PlayStation Store เท่านั้น โดยสำหรับรุ่น Standard Edition จะอยู่ที่ราคา 499.99 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 15,500 บาท และรุ่น Digital Edition ที่ราคา 399.99 หรือประมาณ 12,400 บาท วางจำหน่ายเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

ส่วนในประเทศไทยนั้น ทาง Sony Thai ได้เปิดราคาและสั่งจองกันในวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยราคาในรุ่น Standard Edition อยู่ที่ 16,990 บาท และรุ่น Digital Edition อยู่ที่ 13,990 บาท ตามช่องทางต่าง ๆ ที่ทาง Sony Thai กำหนด แต่ทาง Sony Store ประสบปัญหาทางด้านเว็บไซต์สั่งจอง จนทำให้ต้องเลื่อนวันสั่งจองอีกครั้งเป็นวันที่ 27 มกราคม 2564 และจำหน่ายพร้อมกันทั่วประเทศล็อตแรกวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาครับ


โดยเครื่อง PlayStation 5 ที่ผมจะมารีวิวในครั้งนี้จะเป็นรุ่น Standard Editon ที่ทางผมเองได้สั่งจองมาด้วยตนเอง จ่ายเงินกันไปสดๆ 16,990 บาท และได้ทำการสั่งจอย DualSense เพิ่มอีกราคา 2,390 และ Media Remote ราคา 1,090 บาท และของทั้งหมดก็ถึงมือผมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาครับ ดังนั้นรีวิวนี้จึงถือว่าเป็น Consumer Review สั่งจอง รีวิว และซื้อมาใช้งานเองครับ ซึ่งผมได้ทำการสั่งจองกับร้าน GameStart Store ไว้ และปรากฎว่าลำดับคิวผมได้ล็อตแรกพอดีสำหรับตัวเครื่อง นับว่าโชคดีมาก ๆ เลยทีเดียว (แต่แท่นชาร์จจอย DualSense ผมไม่ทันซะงั้น อดรอล็อตต่อไป ฮ่าฮ่า) 


สเปกเครื่อง

  • CPU - x86-64-AMD Ryzen™ “Zen 2” 8 Cores / 16 Threads ความถี่สูงสุด 3.5 GHz
  • GPU - AMD Radeon™ RDNA 2-based graphics engine รองรับ Ray Tracing Acceleration ความถี่สูงสุด 2.23 GHz (10.3 TFLOPS)
  • System Memory - GDDR6 16GB 
  • SSD - ขนาดความจุ 825 GB
  • Optical Drive - Ultra HD Blu-ray 
  • PS5 Ultra HD Blu ray Disc - รองรับสูงสุด 100GB / แผ่น
  • Graphic Output - HDMI™ OUT port Support of 4K 120Hz TVs, 8K TVs, VRR (HDMI ver.2.1)
  • Sound - “Tempest” 3D AudioTech
  • Input/Output - USB Type-A port (Hi-Speed USB)USB / Type-A port (Super-Speed USB 10Gbps) x2 / USB Type-C® port (Super-Speed USB 10Gbps)
  • Networking -  Ethernet (10BASE-T, 100BASE-TX, 1000BASE-T)IEEE 802.11 a/b/g/n/ac/ax Bluetooth® 5.1

ขนาดของเครื่อง PlayStation 5 Standard Edition

  • ขนาด 390 มม. x 104 มม. x 260 มม.  (กว้าง x สูง x หนา) (ไม่รวมฐานตั้งเครื่อง)
  • น้ำหนัก : 4.5 กิโลกรัม
  • อัตราการกินไฟ : 350W

ขนาดของเครื่อง PlayStation 5 Digital Edition

  • ขนาด 390 มม. x 92 มม. x 260 มม. (กว้าง x สูง x หนา) (ไม่รวมฐานตั้งเครื่อง)
  • น้ำหนัก : 3.9 กิโลกรัม
  • อัตราการกินไฟ : 340W

แกะกล่อง


เมื่อแกะฝาบนของกล่องออกมา คุณก็จะพบกับ จอย DualSense / แท่นวางเครื่อง / สายไฟ / สาย USB Type A to USB Type C / สาย HDMI และคู่มือการการใช้งาน รวมไปถึงคู่มือการลงทะเบียนจาก Sony Thai ครับ


สัมผัสแรกกับจอย DualSense ซึ่งนับว่าเปลี่ยนโฉมไปมาก ๆ เลย เมื่อเทียบกับเจ้า DualShock 4 ของ PS4 มาครั้งนี้ DualSense จะใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีขาวดำแบบด้าน ๆ มีรูปทรงที่ใหญ่ขึ้นพอ ๆ กับจอยของ Xbox ทำให้การจับดูเต็มไม้เต็มมือมากขึ้น ด้านหลังมีลาย Texture อันเป็นเอกลักษณ์ของ PlayStation (O X สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม) ทำให้ยิ่งกระชับมือมากขึ้นอีกด้วย ตัว Touch Pad จะใช้เป็นพลาสติกสีขาวด้านล้วน ๆ ไม่มีลวดลายแบบ DualShock 4 ส่วนไฟ RGB และลำโพงที่ตัวจอยยังคงมีเหมือนเดิม


เอา KontrolFreek ของ PS4 มาใส่ได้พอดิบพอดี ช่วยเสริมการควบคุมที่ดีขึ้นและถนอมยางอนาล็อก


มีลำโพงและไมโครโฟนในตัว พร้อมปุ่มเปิดปิดไมค์ ใช้งานง่าย และสะดวกสบายมากขึ้น


Adaptive Trigger เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาใน DualSense

ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ พอร์ตเชื่อมต่อและชาร์จเปลี่ยนมาใช้ USB Type C แล้วตามยุคตามสมัย มีไมโครโฟนในตัว ที่มีปุ่มเปิดปิดเสียงไมค์ได้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อัดแน่นมาเต็ม ไม่ว่าจะเป็น Adaptive Trigger และ Haptic Feedback ที่เข้ามาช่วยเพิ่มอรรถรสการเล่นเกมให้เรามากขึ้น ถ้าหากคุณเล่นเกมที่เปิดใช้งานคุณสมบัติดังกล่าว โดย Adaptive Trigger จะเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้กับปุ่ม L2 R2 ให้มีแรงต้านในการกดมากขึ้น เช่น เวลาคุณเล่นเกมประเภท Shooting คุณจะรู้สึกถึงแรงต้านเมื่อคุณกด มันจะแข็ง ๆ ฝืด ๆ เสมือนคุณกำลังเหนียวไกปืนจริง ๆ ส่วน Haptic Feedback เข้ามาช่วยทำให้การสั่น Vibration ทำงานได้ละเอียดมากขึ้นกว่า DualShock 4 มาก ๆ ช่วยสร้างฟิลลิ่งในการเล่นเกมได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำมาก ๆ สมกับเป็นเครื่องคอนโซล Next Gen จริง ๆ ที่สำคัญวัสดุพลาสติกรู้เลยว่าคุณภาพดี เพราะจับแล้วไม่มีเสียงกรอบแกรบแบบ DualShock 4 เลยแม้แต่น้อย งานประกอบ งานวัสดุ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ยัดมา ถือว่าทำออกมาได้แบบเยี่ยมเลย แต่จุดที่อาจจะเป็นข้อเสียหน่อยคือแบตเตอรี่หมดไวมาก 


ส่วนประกอบของจอย DualSense

ต่อมาไม่รอช้า เรามาที่ตัวเครื่องกันเลยดีกว่าครับ เมื่อเปิดแผ่นโฟมที่ห่อเครื่องมา คุณก็จะพบกับหน้าตาของเจ้าเครื่อง PlayStation 5 ของจริงกันสักที มาพร้อมดีไซน์ตัวเครื่องโทนสีขาวล้วนตัดกับสีดำตรงกลาง ที่ล้ำสมัยและสวยงามกว่าหลายเจนก่อนหน้านี้ (จนมีการแซวกันว่ามันคล้ายเร้าเตอร์หรือเครื่องฟอกอากาศ) ตัวฝาเครื่องด้านข้างทั้งสองด้านจะใช้วัสดุพลาสติกสีขาวด้าน สามารถให้ผู้ใช้งานถอดออกได้อย่างง่ายดาย ส่วนตรงพลาสติกชิ้นกลางเครื่องนั้น ด้านหลังเป็นครีบช่องระบายความร้อน จะใช้วัสดุพลาสติกสีดำด้าน ยกเว้นด้านหน้าเครื่องที่ใช้วัสดุพลาสติกดำเงาแบบ Piano Black ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวผมไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่นัก เนื่องจากมันเป็นรอยนิ้วมือง่ายมาก ๆ เป็นแหล่งดูดฝุ่นและสะสมฝุ่นชั้นดี หากใช้ผ้าเช็ดความสะอาดเครื่อง ต่อให้ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ของ 3M เกรดดีมาเช็ด ๆ ปัด ๆ เบา ๆ ก็ยังปรากฎรอยขนแมวให้เห็นอยู่ดี ซึ่งทำให้การดูแลรักษาในส่วนนี้ยากมาก ๆ แนะนำให้ติดสติ๊กเกอร์ไว้ดีกว่า ซึ่งปัจจุบันก็มีสติ๊กเกอร์สำหรับแปะเครื่อง PS5 จำหน่ายแล้วทางช่องทางร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ แนะนำว่าให้แปะเถอะ กันไว้ดีกว่าแก้ เป็นรอยแล้วมันจะหงุดหงิดสายตาเมื่อซื้อมาใหม่ ๆ แน่นอน เชื่อผมเถอะ!!


ตัวเครื่อง PlayStation 5 สีขาวนวล ตัดสีดำ


ด้านหน้าของเครื่อง


ด้านหลัง มีช่องระบายความร้อนออก และพอร์ตการเชื่อมต่อต่าง ๆ


พลาสติกสีดำเงาวับ  สร้างความสวยงามในครั้งแรก 
แต่นาน ๆ ไป จะเต็มไปด้วยรอยขนแมวอย่างแน่นอน =_=


ปุ่ม Power และปุ่ม Eject เพื่อนำแผ่นออกด้านหน้าเครื่อง


พอร์ตการเชื่อมต่อด้านหน้า USB Type C และ USB 3.1 บริเวณด้านหน้าเครื่อง


ฐานล่างเครื่อง ระบุชัดเจนว่าคือ SONY PlayStation 5


เครื่องศูนย์ไทยทุกเครื่อง งวดนี้ต้องมีตรามาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. ด้วยนะ!!

เรามาดูพอร์ตการเชื่อมต่อกันบ้าง เครื่อง PS5 มาพร้อมการเชื่อมต่อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
  • ช่องเสียบสายไฟ AC เข้าเครื่อง
  • ช่อง HDMI สำหรับเชื่อมต่อกับจอ Monitor / TV
  • ช่อง LAN สำหรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านสาย LAN
  • ช่อง USB 3.1 จำนวน 2 ช่อง ใช้สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับเครื่อง PS5


โดย PlayStation 5 จะตัดช่อง Optical Sound ออกไป และไม่มีช่องสำหรับเสียบกล้อง PS Camera ที่ใช้กับ PlayStation VR ได้แบบใน PS4 อีกต่อไป แต่สามารถหา Adapter แปลงมาเสียบใช้งานกับช่อง USB3.1 แทนตามลิงค์นี้ https://www.playstation.com.hk/pscamera-adaptor/reg เพื่อให้สามารถใช้งานกับ PlayStation VR ได้ปกตินั่นเองครับ

ด้านการใช้งานครั้งแรก


ก็เสียบปลั้ก กดสวิตซ์ที่หน้าเครื่องได้เลย ภาพแรกที่เจอจะเป็นการเชื่อมต่อกับ DualSense เพื่อให้เครื่องเรารู้จักกับ DualSense เสียก่อน โดยเสียบผ่านสาย USB ที่แถมมา แล้วกดที่ปุ่มโลโก้ PS ที่จอย จากนั้นก็เลือกภาษา (แนะนำว่าให้เลือกภาษาไทยดีกว่า เวลาตั้งค่าครั้งแรกจะได้ง่าย ๆ ) ให้ทำการตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่อง ไม่ว่าเป็นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ล็อกอิน PSN ID (อันนี้จำเป็นนะ ถ้าใครยังไม่มี ไม่ได้สมัคร ก็สมัครได้ที่ https://id.sonyentertainmentnetwork.com/id/create_account_ca/ แล้วกรอกข้อมูลตามจริงไป) 

เมื่อตั้งค่าอะไรต่าง ๆ จนแล้วเสร็จก็มาถึงหน้า Home ของเครื่อง PlayStation 5 อันสวยสดงดงามแล้ว ทั้งนี้คุณสามารถแบ็กอัพไฟล์เซฟเกมที่บันทึกไว้ในคลาวด์ (หากคุณเป็นสมาชิก PS Plus รายเดือนหรือรายปี) มาไว้ใน SSD เครื่อง และเกมของ PS4 ทั้งหมดที่อยู่ Ext.HDD สามารถนำมาเสียบเข้ากับเครื่อง PlayStation 5 ได้ทันทีผ่าน USB โดยเครื่องจะมองเห็นเกมที่เราติดตั้งใน Ext.HDD โดยอัตโนมัติ และมันจะดำเนินติดตั้งตัวอัพเดทไฟล์ล่าสุดของแต่ละเกมขึ้นมาเอง (แนะนำว่าต้องเป็น PSN ID เดียวกับเกมที่อยู่ใน Ext.HDD เท่านั้น) ถือว่าสะดวกสบายเลย ไม่ต้องมานั่งลงเกมใหม่ทั้งหมดให้เสียเวลา


ถอด Ext.HDD จาก PS4 มาเสียบใช้งานได้ทันที โดยใช้ PSN ID เดิม 
ไม่ต้องฟอร์แมตติดตั้งเกมใหม่หมด

เมนูของ PlayStation 5 แรก ๆ อาจสร้างความสับสน มึนงง และใช้งานค่อนข้างยากเล็กน้อย ถ้าคุณใช้งาน PlayStation 4 มานาน ก็มันแทบจะพลิกโฉมไปหมดเลย และจากเดิมที่เคยสามารถสร้าง Folder แยกประเภทเกมได้ใน PlayStation 4 พอมา PlayStation 5 แล้วกลับไม่มีตัวเลือกนี้แต่อย่างใด (คาดว่าอนาคตคงน่าจะมีนะ) ในหน้าแรกจะแสดงเกมที่เราเล่นล่าสุดขึ้นมาแค่ 7-8 เกม เท่านั้น เล่นอันไหนก็ขึ้นอันนั้นอยู่เป็นอันดับแรก และดันอันเก่าเลื่อนไปจนหายไป ต้องไปเลือกหาใน Library แทน ซึ่งมี 3 หมวด เกมทั้งหมดที่สะสม ที่ติดตั้งบนเครื่อง และ PlayStation Plus ตัวเกมสามารถจัดเรียงตามชื่อ วันที่ซื้อ หรือตัวอักษร ส่วน PlayStation Store การหาเกมก็ค่อนข้างลำบากพอสมควร ยังคงต้องปรับปรุงในด้าน User Interface อีกเยอะเลยทีเดียวเลยครับ แต่ก็ทำออกมาได้ดีและสวยงามอยู่


หน้า Home ของ PlayStation 5 อันสวยงามตามท้องเรื่อง 
แต่อาจสร้างความยุ่งยากในการใช้งานครั้งแรก


เกมทั้งหมดที่ติดตั้งอยู่ใน Library นะ หาเอาเอง ไม่มี Folder ให้สร้างเป็นหมวดหมู่

การติดตั้งเกม

การติดตั้งเกมบนเครื่อง PlayStation 5 สามารถติดตั้งตัวเกมได้ทั้งเวอร์ชั่น PS4 และ PS5 และรองรับเกม PS4 ได้เกือบทั้งหมดถึง 99% แผ่นเกม PS4 สามารถใช้กับ PS5 ได้ด้วย บางตัวอัพเกรดไปเวอร์ชั่น PS5 ให้ด้วย โดยเกม PS5 สามารถติดตั้งได้บน SSD ในเครื่องเท่านั้น ไม่สามารถติดตั้งบน Ext.HDD ได้ ส่วนเกม PS4 สามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งบน SSD ในเครื่องหรือ Ext.HDD และตั้งค่าได้ว่าติดตั้งเกม PS4 ทุกครั้งให้ติดตั้งบน Ext.HDD เพียงอย่างเดียว 


การติดตั้งเกม Version PS5 สามารถติดตั้งได้บน SSD ในเครื่องเท่านั้น


เกม PS4 ที่มีอยู่ ก็สามารถเล่นได้บน PS5 นะเออ ไม่ต้องขาย!!

โดยความจุของ SSD ที่ติดเครื่องมานั้นจะอยู่ที่ 825GB (ไม่ถึง 1TB) แต่สามารถใช้งานได้จริงอยู่ที่ 600GB นิด ๆ เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะสำหรับสายโหลดองเกมแบบผม แต่ทั้งนี้ตัวเครื่อง PlayStation 5 ก็มีช่อง SSD Expansion ว่าง ๆ มาให้ 1 Slot ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากตัว Firmware ยังไม่เปิดคุณสมบัตินี้ หวังลึก ๆ ว่าทาง Sony เองคงจะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถอัพเกรดความจุเพิ่มเติมได้ในอนาคตเร็ว ๆ นี้ เพราะมันไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง ๆ ครับ


Loading Time ผมบอกเลยว่าเป็นอะไรที่ประทับใจมากๆ ถ้าติดตั้งเกมบน SSD ในของเครื่อง (ที่มีน้อยนิด) โหลดเกมเร็วมาก บางเกมแทบไม่เห็นหน้า Loading เลยด้วยซ้ำ ส่วนถ้าเล่นเกม PS4 จาก Ext.HDD นั้นความเร็วในการ Loading ไม่ได้ต่างจาก PS4 Pro แต่อย่างใด

กราฟฟิคและเฟรมเรตของเกม


กราฟฟิคของเกมบน PS5 มีความสวยงามและมีรายละเอียดมากขึ้น
รวมไปถึงการเล่นที่ลื่นไหลไม่มีสะดุด

กราฟฟิคและเฟรมเรตของเกม เท่าที่ผมได้ทำการทดสอบกับเกมหลาย ๆ เกมของ PS4 ก็ให้ผลที่น่าพึงพอใจมาก ๆ แม้ตัวรายละเอียด Texture ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ที่เห็นได้ชัดคือในเรื่องของเฟรมเรต ที่บางเกมที่ตั้งค่าเป็น Performance Mode พบว่ามันให้เฟรมเรตที่ลื่นตาไม่มีสะดุดแม้แต่น้อย โดย ผมลองกับเกม PS4 อย่าง Marvel' Spider-Man ภาคแรก / Final Fantasy XV / Horizon Zero Dawn หรือแม้แต่เกมเก่าอย่าง Infamous Second Son พอปรับไปใช้โหมด Performance ให้เฟรมเรตที่ลื่นไหลมากๆ (60FPS) ขณะที่ตอนเล่นใน PS4 Pro แม้ปรับโหมดนี้ก็ยังมีอาการภาพสะดุดให้เห็นอยู่บ้าง แต่กับ PS5 ไม่มีปัญหานี้อีกต่อไป
 


เทคโนโลยี Ray Tracing ช่วยให้การสะท้อนของวัตถุทั้งหมดภายในเกมดูสมจริงมากขึ้น

ส่วนกราฟฟิคของเกม อันนี้อาจจะมีผลกับเกมที่ได้รับการอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่น PS5 โดยตรง โดยจะมีเพิ่มเติมในส่วนของ Ray Tracing ซึ่งเป็นการสะท้อนของวัตถุต่างบนโลกของเกมแบบ Real Time ไม่ใช่เอาภาพมาตัดปะอีกต่อไป นอกจากนี้ยังรองรับกราฟฟิคระดับ Real 4K UHD ที่ 60FPS กันเลยทีเดียว (ไม่ใช่การ Up Scale) นับว่าพัฒนาขึ้นมาพอสมควรเลยทีเดียวสำหรับเรื่องกราฟฟิคของเกมครับ

การระบายความร้อนเครื่อง

ในจุดนี้บอกเลยว่าทำออกมาดีมาก ๆ สำหรับการระบายความร้อนของเครื่อง เพราะดูดลมเย็นจากทางด้านหน้าเครื่องและเป่าลมร้อนออกทางด้านหลังเครื่องตามหลักระบายความร้อนทุกประการ เพราะผมลองสตรีมเกมยาวต่อเนื่องเกือบ 3 ชั่วโมง พบว่าไม่ค่อยมีความร้อนสะสมภายในเครื่องมากมายเท่าไหร่ โดยพัดลมโบลเวอร์และฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ภายในเครื่องสามารถปัดเป่าระบายความร้อนออกมาได้ดี จับตัวเครื่องดูก็แค่อุ่น ๆ เท่านั้น ส่วนพัดลมโบลเวอร์ต้องบอกเลยว่าทำงานได้ค่อนข้างเงียบมาก ไม่ได้ดังระดับเครื่องบินเจ็ทเทคออฟแบบใน PS4 Pro อีกแล้ว จนถึงกับต้องหูเงี่ยฟังดูว่าตรงช่องดูดอากาศด้านหน้าพัดลมมันทำงานหรือเปล่า เงียบเกิน 

สรุป

PlayStation 5 ถือว่าเป็นเครื่องเล่นเกม Next Generation ที่ให้ความรู้สึกว่ามันคือเครื่อง Next Gen จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสเปกที่แรงขึ้นอัพเกรดมาเพื่อให้เล่นเกมที่ลื่นไหลมากขึ้น กราฟฟิคสวยงามขึ้น ประสิทธิภาพการระบายความร้อนที่ดีขึ้น ตัวเครื่องที่ออกแบบมาสวยงามมากกว่าเครื่อง PlayStation 4 รวมไปถึงฟีเจอร์ลูกเล่นและเทคโนโลยีที่อัดมาเต็มในจอย DualSense ถ้าใครชอบเล่นเกมคอนโซล และเป็นสาวกของ PlayStation แล้ว ผมว่า PlayStation 5 ต้องเป็นเครื่องเล่นเกมที่พลาดไม่ได้ที่จะเป็นเจ้าของอย่างแน่นอนครับ สำหรับใครที่ยังจองไม่ทัน ก็อดใจรอกันสักนิดครับ สำหรับเครื่องศูนย์ไทย



ใบเสร็จรับเงินเก็บไว้ให้ดี 
เพราะมันเป็นหลักฐานในการรับประกันสินค้า
อย่าลืมลงทะเบียนรับประกันสินค้าที่ 
กันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาด แถมต่ออายุการรับประกัน 
เพิ่มขึ้นอีก 3 เดือนเป็นระยะเวลารวม 15 เดือนครับ


จุดเด่น

  • ดีไซน์เครื่องออกมาสวยงามโทนสีขาวตัดดำ ล้ำสมัย ระบายความร้อนได้ดีมาก
  • DualSense อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง Adaptive Trigger และ Haptic Feedback ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมมากขึ้น แถมยังมีไมโครโฟนในตัว
  • สเปกเครื่องที่แรงขึ้น เฟรมเรตเสถียรขึ้น รองรับ Ray Tracing เพิ่มการสะท้อนวัตถุภายในเกมให้สมจริงยิ่งขึ้น
  • เกม PS4 ทั้งแบบ Digital และแบบแผ่น Blu Ray สามารถใช้งานต่อได้บนเครื่อง PlayStation 5 บางเกมทางผู้พัฒนาเกมสามารถให้เราอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่น PS5 ได้ฟรีอีกด้วย
  • Ext.HDD ที่ติดตั้งเกม PS4 ไว้เดิม สามารถใช้งานบน PS5 ได้ทันที หากล็อกอินด้วย PSN ID ตัวเดียวกันกับเกมที่ติดตั้งไว้บน Ext.HDD สะดวก ไม่ต้องติดตั้งเกมใหม่ทั้งหมดให้เสียเวลา

ข้อสังเกต

  • กรอบตัวเครื่องชั้นกลางด้านหน้าใช้วัสดุเป็นพลาสติกดำเงาที่เป็นรอยนิ้วมือ คราบฝุ่น และรอยขนแมวขึ้นง่ายมาก ต่อให้รักษาดีแค่ไหนก็ตาม (แนะนำให้หาสติ๊กเกอร์กันรอยมาติดน่าจะดีที่สุด)
  • วัสดุตัวเครื่องโดยภาพรวม ตัวพลาสติกของตัวเครื่องที่เป็นแบบด้าน เมื่อมองดูจะเหมือนมีชั้นพลาสติกเวลาฉีดขึ้นโมล งานไม่ค่อยเนี๊ยบเท่าไหร่ น่าจะเพราะลดต้นทุนด้านวัสดุ เพื่อให้ขายในราคาที่ไม่แพงมาก
  • DualSense แบตหมดค่อนข้างไวกว่า DualShock 4 คงเพราะเทคโนโลยีที่อัดแน่นมา แม้จะเพิ่มขนาดความจุของแบตเตอรี่มากกว่า DualShock 4 แล้วก็ตาม ด้วยความที่ตัวจอยเป็นสีขาว ทำให้เห็นคราบสกปรกได้ง่ายเวลาใช้งาน
  • การติดตั้งเกม PS5 ยังสามารถติดตั้งได้แค่บน SSD บนตัวเครื่องเท่านั้น (มีที่ว่างสำหรับติดตั้งเกมในตัวเครื่องแค่ 600GB+ เท่านั้น) และยังไม่สามารถซื้อ SSD มาใส่ช่อง Expansion Slot เพื่อเพิ่มความจุได้ในตอนนี้ (รอทาง Sony อัพเดท Firmware ในอนาคต) ส่วนการติดตั้งเกมบน PS4 สามารถติดตั้งได้ทั้งบน SSD เครื่อง และ Ext.HDD แยก
หมายเหตุ : รีวิวนี้เป็น Consumer Review (CR) โดยแอดมินอัจผู้เขียนทำการสั่งจองสินค้าและชำระเงินซื้อด้วยตนเองแบบผู้ใช้งานทั่วไป ไม่มีบุคคลหรือแบรนด์สนับสนุนส่งสินค้าสำหรับรีวิวแต่อย่างใด

#PS5 #PlayStation5 #PlayHasNoLimit #SONY #LOFTGAME 

อัจ ลอฟท์เกม

อัจ ลอฟท์เกม ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ "ลอฟท์เกม - LOFTSGAME" บล็อกเกอร์ผู้สนใจและชื่นชอบเครื่องเล่นเกมคอนโซลเป็นชีวิตจิตใจ นอกจากนี้ยังชื่นชอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไอที แกตเจ็ต รวมไปถึงกีฬาอีสปอร์ต facebook twitter

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า